“ทับทิมสยาม06” อ.ขุขันธ์
แหล่งรวมพันธุ์ไม้ดอกถิ่นอีสาน
ใครจะไปนึกว่าพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
ใน ต.ปรือใหญ่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีะเกษนั้น
ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอันแห้งแล้งและทุรกันดารมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แต่ทว่าปัจจุบันกลายเป็นทำเลทองของการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงามที่สุดของประเทศไปแล้ว
ทั้งนี้
ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เมื่อครั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านนาจะเรีย
ซึ่งตั้งอยู่ริมชายแดนไทย-กัมพูชา ในท้องที่ ต.ปรือใหญ่ อ.ขุขันธ์ แห่งนี้
อันเป็นพื้นที่ที่ทางราชการได้จัดสรรให้แก่ราษฎรอยู่อาศัย
กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้เคลื่อนย้ายออกมาจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิมที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
จากนั้นพระองค์ได้ทรงมีพระดำริให้มีการฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อม
ด้วยการปลูกป่าให้เต็มพื้นที่ พร้อมกันนี้ก็ได้จัดตั้งเป็น
"โครงการทับทิมสยาม 06" โดยมีปรมาจารย์ด้านกล้วยไม้ "ศ.ดร.ระพี
สาคริก" คอยให้คำปรึกษาแนะนำ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
สภาพแวดล้อม และสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับราษฎรตามแนวชายแดน
เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ
"โครงการนี้มี
ศ.ดร.ระพี สาคริก เป็นผู้ให้คำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้
โดยใช้ข้อมูลจากโครงการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ที่กะลูบี จ.นราธิวาส" ท่านเอนก
บางข่า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตรกล่าว
ทั้งนี้
ท่านเอนกยังได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน จ.ศรีสะเกษ โดยระบุว่ามักจะพบปัญหาเรื่องพื้นที่ดินมีสภาพแห้งแล้งและดินเป็นดินดาน
ในช่วงแรกที่กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยฯ
เข้ามาสนับสนุนในด้านการปลูกไม้ผลแก่เกษตรกรในพื้นที่
ซึ่งก็สามารถทำได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
เนื่องจากไม้ผลไม่สามารถเติบโตได้ดีในดินดานซึ่งขาดความอุดมสมบูรณ์
จากนั้นศูนย์จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัยในการนำกล้วยไม้มาปลูก
โดยทำในลักษณะของโรงเพาะชำ ซึ่งกล้วยไม้ไม่จำเป็นต้องใช้ดินในการปลูกทั้งแปลง
ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่
นอกจากนี้
ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการศึกษาและทดสอบพันธุ์กล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ
โดยเปรียบเทียบพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวาย หวายแคระ ม็อกคาร่า สปาโตก็อตติส
อิพิเดรนรัม แวนด้าใบกลม แมลงปอ ออนซิเดียม ซึ่งนอกจากกล้วยไม้การค้าแล้ว
ยังมีการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองในท้องถิ่นอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้แดงอุบล ม้าวิ่ง และกล้วยไม้สกุลอื่นๆ
พร้อมกันนี้โครงการดังกล่าวยังทำการทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ
ที่เหมาะสมเพื่อปลูกเชิงการค้า ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และบริเวณใกล้เคียง เช่น
ฟิโรเดนดรอน เฟิร์น พืชตระกูลปาล์ม ปทุมมา เป็นต้น
"ในพื้นที่โครงการจะมีการรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ป่า
และไม้ดอกไม้ประดับท้องถิ่น และพันธุ์ไม้ชื่อพระนาม โดยเฉพาะกล้วยไม้ในสกุล
ม้าวิ่ง Doritis
spp และกล้วยไม้ดิน รวมได้ทั้งสิ้นกว่า 60 สกุล 90 ชนิด
ไม้ดอกไม้ประดับพื้นเมือง 10 ชนิด และพืชสมุนไพรอีก 70 ชนิดสายพันธุ์"
ท่านเอนกกล่าวอีกด้วยว่าสำหรับโครงการทับทิมสยาม
06 พร้อมที่จะเปิดเป็นแหล่งศึกษา ฝึกอบรม
และศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ
และให้บริการด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและดูงาน ด้านการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้
และไม้ดอกไม้ประดับที่เหมาะสมในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ
และยังจัดทำแปลงปลูกแม่พันธุ์ไม้ผล โดยขณะนี้มีแม่พันธุ์ไม้ผลจำนวน 13 ชนิด 21
พันธุ์ในพื้นที่ 8 ไร่ เพื่อทำการขยายพันธุ์จำหน่ายและแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่สนใจ
ท่านใดสนใจศึกษาดูงานหรือซื้อพันธุ์ไม้ติดต่อได้ที่โครงการศูนย์ศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ
หมู่บ้านทับทิมสยาม 06 บ้านนาจะเรีย ต.ปรือใหญ่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
หรือติดต่อผ่านศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
โทร.0-4561-2402 ในเวลาราชการ
(ขอขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก www.rd1677.com) (ภาพในบทความเป็นภาพตัวอย่างเท่านั้น)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น