วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ปราสาทตาเล็ง

ปราสาทตาเล็ง (TA LENG SANCTAURY)
 
          ปราสาทตาเล็ง หรือปราสาทลุมพุก เดิมตั้งอยู่ในเขตตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ ต่อมามีการแยกตำบลออกเป็นตำบลปราสาท ทำให้ปราสาทตาเล็งขึ้นอยู่กับตำบลปราสาท โดยปราสาทตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท หมู่ที่ ๑ ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
 
 
          ปราสาทตาเล็งเป็นปราสาทขนาดเล็กหลังเดี่ยว อยู่ท่ามกลางป่าใหญ่ทางด้านตะวันออกเขตหมู่บ้าน ตัวปราสาทมีการแกะสลักหินเป็นลวดลายสวยงามมากแห่งหนึ่ง ก่อด้วยหินทราย และอิฐบนฐานศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนยอดด้านบนหักพังกระจัดกระจายอยู่รอบๆตัวปราสาทหมดแล้ว ที่เหลือคือส่วนเรือนธาตุที่ก่อด้วยหินทรายเป็นกรอบประตูปราสาท เฉพาะด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านก่อเป็นผนังทึบเป็นประตูหลอก คือแกะสลักหินรูปร่างคล้ายกับประตูแต่ไม่สามารถเข้าออกได้ เรียกว่าประตูหลอก
 
 
          ที่เสาประดับผนังของกรอบประตูด้านทิศตะวันออก ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงกรอบหน้าบันมีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม โดยบริเวณเสาประดับผนังทั้งสองข้างมีการ แกะสลักเป็นลายก้านขดในแต่ละโค้งตรงกลางสลักเป็นรูปหงส์ บริเวณหัวเสาแกะสลักเป็นลายกลีบบัว ลายใบไม้ ส่วนหน้าบันที่เหลืออยู่เฉพาะปลายกรอบทั้งสองข้าง สลักเป็นรูปนาคห้าเศียรสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่านาคยังมีเขี้ยวเหมือนเขี้ยวเหมือนงูอยู่ด้วย ซึ่งเป็นลวดลายแกะสลักที่ละเอียดปราณีตมาก และที่หน้าบันทับหลังที่ตกอยู่หน้าปราสาทมีการแกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรง ช้างเอราวัณ ยืนอยู่บนหัวยักษ์ และ โดยรอบตัวปราสาทมีหินมีส่วนประกอบของปราสาทตกอยู่หลายชิ้นกระจัดกระจาย ทับหลังอีกชิ้นหนึ่งตกอยู่ที่พื้นดินเป็นรูปพระอินทร์ทรงหงส์ ทับหลังชิ้นอื่น มีลักษณะคล้ายกัน แต่ภาพใบหน้าหน้าเทวรูปตรงกลางถูกกะเทาะออกไปหมด คิดว่าที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากฝีมือคนขโมย
 
 

 
 
          ทางด้านทิศตะวันออก เป็นแนวศิลาแลง ที่ เป็นขอบฐานของซุ้มประตู และมีคูน้ำอยู่ล้อมสามด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออก ตรงไปจากฐานซุ้มประตูทิศตะวันออก มีแนวคันดินคล้ายถนนเป็นแนวตรงไปสู่สระน้ำขนาดใหญ่ที่คนแถวนั้นเรียกว่า (ตระเปียงละเบิก) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใช้สอยที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนคนในชุมชนรอบๆ ปราสาทตาเล็งแห่งนี้ได้อย่างดี
 คูน้ำล้อมรอบปราสาท

 หนองตระเปียงละเบิก
          จากลักษณะทางศิลปกรรม กรมศิลปากรได้สันนิฐานว่าปราสาทตาเล็งได้สร้างขึ้น โดยมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบปาปวน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 (สร้างขึ้นก่อนการตั้งกรุงสุโขทัยของไทยด้วยซ้ำไป) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2525 โดยมีขอบเขตโบราณสถาน เป็นพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งานเศษ ปราสาทตาเล็งจึงเป็นโบราณสถานที่น่ามาเที่ยวชมเพื่อศึกษาอารยะธรรมความเจริญ รุ่งเรืองของดินแดนอีสานใต้ในอดีตได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว
           ปัจจุบันปราสาทตาเล็งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จึงอยากใคร่ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปรับผิดชอบและบูรณะขึ้นให้สมบูรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงาม เพื่อประโยชน์แก่การท่องเที่ยวและการศึกษาของอนุชนคนรุ่นหลัง
------------------------------------------------------------------------------------------------
การเดินทาง

 
          จากตัวอำเภอขุขันธ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๐๑ ตรงไปเป็นระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร จะพบแยกบ้านแทรง(ทางไปบ้านใจดี)ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๐๑ ต่อไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร จะพบแยกบ้านราศีพัฒนา ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบทสาย ศก ๔๐๔๗ ได้เลย ใช้ระยะทางนี้ต่อไปอีก ๑๐ กิโลเมตร จะพบวัดโสภณวิหาร ใช้เส้นทางตรงไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร ถึงบ้านปราสาท ด้านหน้าทางเข้าปราสาทตาเล็ง จะเป็นซุ้มประตูเขมรโบราณประยุกต์อยู่ด้านหน้าทางเข้า ให้เลี้ยวเข้าได้เลย ตรงไปอีกประมาณ ๓๐๐ เมตร ก็จะพบปราสาทตาเล็ง
 
เรียบเรียงบทความจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=411076 และจากบทความปราสาทตาเล็งในสารานุกรมเสรีวิกิพีเดียและขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเฟซบุก สุเพียร คำวงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น