วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

256 ปี เมืองขุขันธ์ 256 เรื่องราว...ที่ชาวขุขันธ์ ต้องรู้!!

256 ปี เมืองขุขันธ์ 256 เรื่องราว...ที่ชาวขุขันธ์ ต้องรู้!!

256 เรื่องราวเมืองขุขันธ์ ที่คุณควรรู้!!

รวมรวมเรื่องราวน่ารู้ จากหลายมุมมองเมืองขุขันธ์ สาระอาจไม่ได้มากมาย แต่อย่างน้อย ๆ ก็เป็นความรอบรู้เล็ก ๆ น้อยได้แน่นอนจ้า

1.เมืองขุขันธ์  เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน – เจนละ – ขอม
2.คำว่าขุขันธ์ เพี้ยนมาจากคำว่า โคกขัณฑ์
3.ขุขันธ์ หรือ โคกขัณฑ์ มีความหมายว่า ดินแดนที่ราบสูง
4.บริเวณเมืองขุขันธ์ เป็นพื้นที่หนึ่งที่เส้นทางราชมรรคาของกษัตริย์ขอมยุคเรืองอำนาจพาดผ่าน
5.ประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์เริ่มขึ้นเมื่อตากะจะ หรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ออกจับพญาช้างเผือกส่งคืนกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2302
6.เมืองที่มีประวัติศาสตร์จับช้างร่วมกับเมืองขุขันธ์ คือ เมืองสุรินทร์ (เมืองประทายสมันต์) เมืองสังขะ (เมืองสังฆะ) เมืองรัตนบุรี (เมืองนครเตา) และเมืองจาระพัด (ตำบลหนึ่งใน อ.ศรีขรภูมิ)
7.ในครั้งจับช้างเผือกมงคลแตกโรงส่งคืนกรุศรีอยุธยา ทหารเอกที่ติดตามช้างเผือกมาในครั้งนี้ด้วยก็คือ ท้องด้วงและ บุญมาพร้อมคณะ ซึ่งได้มาพักค้างแรมที่เมืองขุขันธ์เป็นเวลาหลายคืน
8.รัชกาลที่  1 เคยเสด็จมาที่เมืองขุขันธ์ในครั้งจับช้าง นั่นก็คือ ท่าน ทองด้วงและ บุญมาภายหลังคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(ร.1) และสมเด็จพระราชบวรมหาสุรสีหนาถ
9.ที่ตั้งเมืองขุขันธ์เริ่มแรกคือบริเวณที่เรียกว่าบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน
10.บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ได้รับการยกฐานะเป็น เมืองขุขันธ์เมื่อปี พ.ศ.2306
11.ปี พ.ศ.2319 เมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ ร่วมทัพในการศึกตีนครจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์และได้ชัยชนะ โดยมีหลวงปราบ เป็นทหารเอก
12.หลังการทำศึกตีนครจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์เสร็จสิ้น ได้นำพระแก้วมรกต พระแก้วเนรมิต และองค์พญาครุฑกลับมาด้วย โดยพระแก้วเนรมิตและองค์พญาครุฑ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ได้ขอพระราชทานให้ประดิษฐาน ณ เมืองขุขันธ์ ส่วนองค์พระแก้วมรกต ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพมหานคร
13.การทำสงครามตีนครจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์ใน พ.ศ.2319 นี้ เป็นผลให้เจ้าเมืองขุขันธ์ สังฆะ และสุรินทร์ ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์ระดับ พระยาทั้งสามหัวเมือง
14.ในปี พ.ศ.2321 พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ถึงแก่อนิจกรรม
15.พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นระยะเวลา 17 ปี
16.พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือตาไกร มีชื่อเรียกอีกชื่อคือ ตากะจะ หรือในบรรดาศักดิ์ต่อมาคือ หลวงแก้วสุวรรณ
17.หลังจากพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ถึงแก่อนิจกรรม หลวงปราบ(เชียงขันธ์) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์(ท่านที่ 2) ในราชทินนาม พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนต่อมาจึงได้ขอพระราชทานราชทินนามใหม่เป็น พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
18.เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 – 9 ใช้บรรดาศักดิ์ในนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน
19.พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ/เชียงขันธ์) ได้ถูกบุตรเลี้ยงเชลยเวียงจันทน์(ท้าวบุญจันทร์/พระไกร) ให้ความว่าเป็นกบฏ จึงถูกจำคุก ณ กรุงเทพมหานคร
20.ท้าวบุญจนทร์(พระไกร) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์(ท่านที่ 3) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน
21.ปี พ.ศ.2325 พระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงใหญ่ แยกจากเมืองขุขันธ์ เป็นเมืองศรีสะเกษ และขอเป็นเจ้าเมืองเอง ได้รับทินนามใหม่ว่า พระรัตนวงษา
22.เมืองศรีสะเกษ ตั้งขึ้นหลังการการตั้งเมืองขุขันธ์เป็นระยะเวลาประมาณ 19 ปี
23.พ.ศ.2329 มีการปันเขตแดนเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษอย่างชัดเจน
24.ปี พ.ศ.2349 เมืองขุขันธ์ สุรินทร์ และเมืองสังฆะ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ไม่ขึ้นต่อพิมาย และนครราชสีมา
25.ปี พ.ศ.2369 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้านครจำปาศักดิ์(โย้) ยกทัพมาตีเมืองขุขันธ์ สุรินทร์ สังฆะ เป็นผลให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(พระไกร/ท้าวบุญจันทร์) ถึงแก่อนิจกรรม ส่วนเจ้าเมืองสังขะ สุรินทร์ สามารถหลบหนีได้ ทำให้ขณะนั้น เมืองขุขันธ์ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง
26.พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (พระไกร/ท้าวบุญจันทร์) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 3) เป็นระยะเวลา 43 ปี
27.ในปี พ.ศ.2371 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระสังฆะบุรี(ทองด้วง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 4) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” [พระสังฆะบุรี(ทองด้วง) เป็นบุตรของพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (เชียงฆะ) เจ้าเมืองสังฆะ]
28.ระหว่างปี พ.ศ.2376 – พ.ศ.2382 มีการยกทัพไปตีญวนในเขตกัมพูชา เมืองขุขันธ์เกณฑ์ไพร่พลออกรบด้วย โดยได้มีการสำรวจชายฉกรรจ์ในครัวเรือนเมืองขุขันธ์ด้วย และนี่คือการทำสำมโนประชากรครั้งแรกของเมืองขุขันธ์
29.ปี พ.ศ.2388 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ทองด้วง) ขอตั้งบ้านไพรตระหนัก เป็นเมืองมโนไพร และให้เมืองมโนไพรขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ (ปัจจุบันเมืองมโนไพรอยู่ในเขตปกครองของกัมพูชา)
30.ปี พ.ศ.2393 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ทองด้วง) ถึงแก่อนิจกรรม รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 4 ทั้งสิ้น 22 ปี
31.ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท้าวใน ดำรงตำแหร่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 5) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนและก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมในปีเดียวกันนี้เอง [ท้าวใน เป็นบุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ/ตาไกร/หลวงแก้วสุวรรณ) ปฐมวงศ์ตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์]
32.ในปีเดียวกันหลังจากที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวใน) ถึงแก่อนิจกรรม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท้าวนวน ดำรงตำแหร่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 6) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนและก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2394 [ท้าวนวน เป็นบุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ/ตาไกร/หลวงแก้วสุวรรณ) ปฐมวงศ์ตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์เช่นกัน]
33.ในปีเดียวกันหลังจากที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวนวน) ถึงแก่อนิจกรรม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท้าวกิ่ง ดำรงตำแหร่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 7) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนและก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2395 [ท้าวกิ่ง เป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์/หลวงปราบ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2]
34.ในปีเดียวกันหลังจากที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวกิ่ง) ถึงแก่อนิจกรรม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท้าววัง ดำรงตำแหร่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 8) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” [ท้าววัง เป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์/หลวงปราบ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2]
35.ปี พ.ศ.2410 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าววัง) ขอโปรดเกล้าฯ ตั้งตำบลห้วยแสนไพรอาบาล แยกจากเมืองขุขันธ์ เป็นเมืองกันทรลักษ์ มีเจ้าเมืองคือพระกันทรลักษาบาล โดยให้เมืองกันทรลักษ์ขึ้นต่อการปกครองของเมืองขุขันธ์
36.ปี พ.ศ.2410 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าววัง) ขอโปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านกันตวด ตำบลห้วยห้วยอุทุมพร แยกจากเมืองขุขันธ์ เป็นเมืองอุทุมพรพิสัย มีเจ้าเมืองคือพระอุทุมพรเทศานุรักษ์ โดยให้เมืองอุทุมพรพิสัยขึ้นต่อการปกครองของเมืองขุขันธ์
37.ปี พ.ศ.2415 พระยาสังฆะ ขอโปรดเกล้าฯ ยกบ้านลำพุก ขึ้นเป็น เมืองกันทรารมย์มีพระกันทรานุรักษ์ เป็นเจ้าเมือง และให้เมืองกันทรารมย์ขึ้นต่อการปกครองของเมืองสังฆะ
38.เมืองกันทรารมย์ ปัจจุบันคือ บ้านกันทรารมย์ ต.กันทรารมย์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
39.ปี พ.ศ.2426 พระยาขุขันธักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 8 ถึงแก่อนิจกรรม
40.ในปีเดียวกันหลังจากที่ท้าววังถึงแก่อนิจกรรม ท้าวปัญญา ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 9) ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวปัญญา เป็นบุตรของท้าววัง)
41.ปี พ.ศ.2428 มีการตัดสายโทรเลขผ่านเมืองขุขันธ์
42.ปี พ.ศ.2440 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้แบ่งการปกครองออกเป็น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง และมณฑล ตำแหน่งเจ้าเมืองให้เปลี่ยนเป็น ผู้ว่าราชการเมืองโดยบางเมืองถูกยุบเป็นอำเภอ บางเมืองรวมกันเป็นเมืองเดียวกัน
43.จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เมืองขุขันธ์มีผู้ว่าราชการเมืองคนแรกคือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ปัญญา)
44.จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมืองกันทรารมย์ ถูกยุบเป็นอำเภอ และโอนจากเมืองสังฆะมาขึ้นต่อเมืองขุขันธ์แทน จนถึงปัจจุบัน
45.จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมืองกันทรลักษ์ ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์เช่นเดิม
46.จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมืองอุทุมพรพิสัย ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์เช่นเดิม
47.จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมืองมโนไพร ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์เช่นเดิม
48.เมืองขุขันธ์ขณะนั้นมี 5 อำเภอคือ อำเภอเมืองขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอกันทรารมย์ อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอมโนไพร
49.ต่อมามีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นบริเวณ โดยพื้นที่เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และเมืองเดชอุดม ถูกรวมกันเรียกว่าบริเวณขุขันธ์
50.ปี พ.ศ.2449 มีบัญชาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางเมืองขุขันธ์ ไปยังอำเภอกลางศรีสะเกษ แต่ยังให้ใช้ชื่อว่าศาลากลางเมืองขุขันธ์ เช่นเดิม
51.บริเวณที่ตั้งศาลากลางเมืองขุขันธ์เดิม ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอห้วยเหนือ เพราะเมื่อครั้งศาลากลางเมืองขุขันธ์อยู่ที่เมืองขุขันธ์ ก็มีศาลากลางห้วยเหนืออยู่ด้วยเช่นกัน
52.พระยาบำรุงบุระประจันต์ เป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์คนแรก ของศาลากลางเมืองแห่งใหม่ ณ อำเภอกลางศรีสะเกษ
53.ปี พ.ศ.2452 ยุบอำเภอกันทรารมย์ เป็นตำบลกันทรารมย์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
54.ปี พ.ศ.2456 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหน่วยปกครอง โดยให้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเมือง จากคำว่า เมืองเป็นคำว่า จังหวัดและตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ให้ใช้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเมืองขุขันธ์ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอกลางศรีสะเกษ จึงเปลี่ยนเป็น จังหวัดขุขันธ์
55.ในปี พ.ศ.2456 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ปัญญา)อดีตเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 และอดีตผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ขุขันธิน
56.ขุขันธิน ถือเป็นนามสกุลแห่งปฐมวงศ์ตระกูลแห่งเจ้าเมืองขุขันธ์ เพราะผู้รับพระราชทานคือท้าวปัญญา เป็นบุตรของเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 8 ส่วนเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 8 เป็นบุตรของเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 ส่วนเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 เป็นน้องของตากะจะ ผู้สร้างเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญาเป็นหลานตากะจะ)
57.พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2465
58.ปี พ.ศ.2468 มีการยกเลิกการปกครองระบบมณฑล ให้ทุกจังหวัดขึ้นต่อส่วนกลาง จังหวัดขุขันธ์ จึงขึ้นต่อส่วนกลางตั้งแต่นั้น
59.ปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
60.ปี พ.ศ.2476 มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดขุขันธ์เป็นครั้งแรก ผู้ที่ได้รับเลือคือ ขุนพิเคราะห์คดี (อินทร์ อินตะนัย)
61.ปี พ.ศ.2481 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดขุขันธ์ เป็นจังหวัดศรีสะเกษ
62.ปี พ.ศ.2481 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอศรีสะเกษ เป็นอำเภอเมืองศรีสะเกษ
63.ปี พ.ศ.2481 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอห้วยเหนือ เป็นอำเภอขุขันธ์
64.หลังการเปลี่ยนนามอำเภอห้วยเหนือ เป็นอำเภอขุขันธ์ ถือว่าสิ้นสุดการวกวนของเมืองขุขันธ์และศรีสะเกษ อำเภอขุขันธ์จึงเป็นอำเภอหนึ่งของศรีสะเกษโดยแท้ตั้งแต่บัดนั้น
65.ปี พ.ศ.2498 แยกตำบลพราน ตำบลไพร และบางหมู่บ้านจากตำบลละลาย อ.กันทรลักษ์ รวมกับ 5 ตำบลในอำเภอขุขันธ์ คือ ต.สิ ต.ขุนหาญ ต.บักดอง ต.กระหวัน ต.กันทรอม ตั้งเป็นกิ่ง อ.ขุนหาญ ขึ้นกับอำเภอขุขันธ์
66.ปี พ.ศ.2501 ยกกิ่ง อ.ขุนหาญ เป็น อ.ขุนหาญ
67.ปี พ.ศ.2504 แยก ต.ปรางค์กู่ ต.พิมาย ต.หนองเชียงทูล ต.สมอ ออกจากอำเภอขุขันธ์ ตั้งเป็นกิ่ง อ.ปรางค์กู่ ขึ้นต่อ อ.ขุขันธ์
68.ปี พ.ศ.2506 ยกกิ่ง อ.ปรางค์กู่ เป็น อ.ปรางค์กู่
69.ปี พ.ศ.2511 แยก ต.ไพรบึง ต.ปราสาทเยอ ต.ดินแดง ต.สำโรงพลัน ออกจากอำเภอขุขันธ์ ตั้งเป็นกิ่ง อ.ไพรบึง ขึ้นต่อ อ.ขุขันธ์
70.ปี พ.ศ.2518 ยกกิ่ง อ.ไพรบึง เป็นอำเภอไพรบึง
71.ปี พ.ศ.2534 แยก ต.ห้วยตึ๊กชู ต.ละลม ต.โคกตาล ต.ห้วยตามอญ ต.ดงรัก ต.ตะเคียนราม ออกจากอำเภอขุขันธ์ ตั้งเป็นกิ่ง อ.ภูสิงห์
72.ปี พ.ศ.2538 ยกกิ่ง อ.ภูสิงห์ เป็น อำเภอภูสิงห์
73.อำเภอขุขันธ์เป็นอำเภอที่เก่าแก่ที่สุดในศรีสะเกษ เก่าแก่กว่าหัวเมืองใหญ่ ๆ หลายแห่ง เช่น อุบล,อุดร
74.อำเภอขุขันธ์ เป็นอำเภอชั้น 2
75.คำขวัญอำเภอขุขันธ์คือ ขุขันธ์เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภู คู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักรสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา
76.อำเภอขุขันธ์มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 23 แห่ง
77.อำเภอขุขันธ์ มี อบต.ทั้งหมด 21 แห่ง
78.อำเภอขุขันธ์ มี เทศบาล 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ และ เทศบาลตำบลศรีสะอาด
79.เทศบาลแห่งที่ 2 ของอำเภอขุขันธ์ คือ เทศบาลตำบลศรีสะอาด
80.เทศบาลที่เป็นที่ตั้งของตัวอำเภอคือ เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์
81.สุขาภิบาลห้วยเหนือ ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลห้วยเหนือ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์
82.โรงพยาบาลขุขันธ์แห่งใหม่ อยู่ในท้องที่ตำบลหนองฉลอง
83.โรงพยาบาลขุขันธ์แห่งใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ ส่วนโรงพยาบาลขุขันธ์แห่งเดิมมีเนื้อที่เพียง 7 ไร่เศษ
84.โรงพยาบาลขุขันธ์แห่งใหม่ เปิดบริการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2549 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552 โดยองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานในพิธี
85.โรงพยาบาลขุขันธ์ มีฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน (น่าจะเป็น รพ.ทั่วไปได้แล้วเนอะ) ขนาด 180 เตียง
86.โรงพยาบาลขุขันธ์แห่งเดิม ปัจจุบันคือ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองห้วยเหนือ
87.อำเภอขุขันธ์ ไม่เคยเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน
88.ระยะทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษถึงตัวอำเภอขุขันธ์ ตามทางหลวง 220 คือ 49 กิโลเมตร
89.หลักกิโลเมตรที่ 0 ของอำเภอขุขันธ์ อยู่บริเวณแยกขุขันธ์ (แยกไปรษณีย์ขุขันธ์)
90.ทางหลวงแผ่นดินที่ตัดผ่านอำเภอขุขันธ์ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลย 24 , 220 , 2157 , 2167 , 2201 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2341
91.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 มีชื่อว่า ถนนสีคิ้ว อุบลราชธานี (เขาเปลี่ยนจากโชคชัย เดชอุดม มานานแล้วเด้อจ้า)
92.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 ชื่อว่า ถนนศรีสะเกษ ขุขันธ์ (ไม่ใช่และก็ไม่มีถนนขุขันธ์ ศรีสะเกษ นะจ๊ะ เพราะ กม.0 ของถนนเส้นนี้อยู่ที่ตัวจังหวัด)
93.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2157 มีชื่อว่า ถนนขุขันธ์ โคกตาล หลัก กม.0 อยู่บริเวณแยกนิคมสายเอก (ถนนเส้นที่ผ่านโรงพยาบาลขุขันธ์แห่งใหม่นั่นแหละจ้า)
94.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2167 มีชื่อว่า ถนนตรางสวาย บ้านพอก กม.0 อยู่แยกตะรางสวาย
95.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2201 มีชื่อว่าถนนไกรภักดี หรือถนนสายขุขันธ์ ช่องสะงำ (ถนนเส้นหน้าสถานีตำรวจภูธรขุขันธ์นั่นแหละจ้า) เรานับ กม.0 ของถนนเส้นนี้เป็น กม.0 ของขุขันธ์ด้วยเด้อ
96.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2341 มีชื่อว่า ถนนไพรพัฒนา กันทรอม – หนองบัวเรณ  ถนนสายนี้ผ่านอำเภอขุขันธ์ทางด้านตำบลปรือใหญ่
97.ถนนที่เก่าแก่ที่สุดในขุขันธ์และศรีสะเกษ คือ ถนนไกรภักดี
98.อำเภอขุขันธ์ มีสถานีตำรวจทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ สภ.ขุขันธ์ สภ.จะกง และ สภ.ปรือใหญ่
99.สถานีตำรวจภูธรขุขันธ์ ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ห้วยเหนือ
100.สถานีตำรวจภูธรจะกง ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.จะกง
101.สถานีตำรวจภูธรปรือใหญ่ ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.หนองฉลอง
102.ลำห้วยสำราญ เป็นลำห้วยสำคัญของศรีสะเกษ ไหลผ่านหลายตำบลในเขตอำเภอขุขันธ์ เช่น ต.ห้วยสำราญ ต.กันทรารมย์ ต.โสน ต.สำโรงตาเจ็น เป็นต้น
103.จุดเหนือสุดของอำเภอขุขันธ์คือบริเวณบ้านสำโรงตาเจ็น ต.สำโรงตาเจ็น
104.จุดใต้สุดของอำเภอขุขันธ์คือบริเวณ บ้านนาจะเรีย (ทับทิมสยาม 06) ต.ปรือใหญ่
105.จุดตะวันออกสุดของอำเภอขุขันธ์คือบริเวณบ้านสนวนตะวันออก ต.ศรีตระกูล
106.จุดตะวันตกสุดของอำเภอขุขันธ์คือบริเวณบ้านหนองสะแกสน ต.ปราสาท
107.อำเภอขุขันธ์มีอาณาเขตด้านทิศเหนือติดกับ อ.ปรางค์กู่ และ อ.วังหิน
108.อำเภอขุขันธ์มีอาณาเขตด้านทิศใต้ติดกับ อ.ขุนหาญ อ.ภูสิงห์ และเทือกเขาพนมดงเร็ก
109.อำเภอขุขันธ์มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกติดกับ อ.ไพรบึง และ อ.ขุนหาญ
110.อำเภอขุขันธ์มีอาณาเขตด้านทิศตะวันตกติดกับ อ.บัวเชด อ.สังขะ อ.ศรีณรงค์ อ.ภูสิงห์ และ อ.ปรางค์กู่
111.ซูเปอร์มาเก็ตแห่งแรกของขุขันธ์ คือ ส่องแสงซูเปอร์สโตร์ ปัจจุบันขยายสาขาอีก 1 สาขา ชื่อว่า ส่องแสงโฮลเซลส์
112.ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกคือ Tesco Lotus เดิมเป็นแบบคุ้มค่า ปัจจุบันปรับเป็นแบบ Department Store เปิดบริการเมื่อ 4 มิถุนายน 2551
113.การที่ห้างสรรพสินค้า Tesco Lotus มาเปิดสาขาที่ขุขันธ์ ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ คือเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
114.อำเภอขุขันธ์มี 711 ทั้งหมด 4 สาขา
115.711 ปตท.ตรงข้ามเทสโก้โลตัสขุขันธ์ ใช้ชื่อสาขาว่า สาขา ปตท.ห้วยเหนือ
116.711 ปตท.ตรงข้ามกิจเจริญไทยขุขันธ์ ใช้ชื่อสาขาว่า สาขา ปตท.อำเภอขุขันธ์
117.711 หน้าตลาดสด ใช้ชื่อสาขาว่า สาขาขุขันธ์
118.711 หน้าวัดกลาง ใช้ชื่อสาขาว่า สาขาขุขันธ์  2
119.อำเภอขุขันธ์มีปั้ม ปตท.2 สาขา
120.อำเภอขุขันธ์มีร้าน Cafée’ Amazon 1 แห่ง
121.อำเภอขุขันธ์มีร้านกาแฟ Intanin 1 แห่ง
122.อำเภอขุขันธ์มีธนาคารทั้งสิ้น 9 สาขา
123.อำเภอขุขันธ์มีธนาคารพายิชย์ 4 แห่ง 7 สาขา คือ ธนาคารกรุงเทพ 2 สาขา ธนาคารกรุงไทย 2 สาขา ธนาคารไทยพานิชย์ 2 สาขา และธนาคารกสิกรไทย 1 สาขา
124.อำเภอขุขันธ์มีธนาคารที่ไม่ใช่ธนาคารพานิชย์ 2 สาขา คือ ธกส. และ ธนาคารออมสิน
125.ธนาคารดูใหญ่โตอลังการสุด ๆ คือ ธกส.สาขาขุขันธ์
126.ธนาคารใหม่ล่าสุด คือ ธนาคารกสิกรไทย สาขาขุขันธ์
127.ธนาคารที่ตัวอาคารดูธรรมดาที่สุด คือ ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาขุขันธ์
128.ระบบน้ำประปาของการประปาแห่งประเทศไทยในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ สังกัด กปภ.สาขาสังขะ (สาขาขุขันธ์น่าจะมีได้แล้วนะ)
129.โรงเรียนประจำอำเภอ คือ โรงเรียนขุขันธ์
130.โรงเรียนขุขันธ์ สาขา 2 คือ โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา
131.โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ คือ โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล
132.โรงเรียนเอกชนประจำอำเภอ คือ โรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง
133.โรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง เป็นโรงเรียนที่มีรถรับส่งนักเรียน ฟรี!! รับ ส่งนักเรียนทุกวัน
134.อำเภอขุขันธ์มีหน่วยควบคุม/บริการสถานศึกษา 1 แห่ง คือ สพป.ศก.3
135.อำเภอขุขันธ์มีสถาบันอาชีวะศึกษา 2 แห่งคือ วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทยขุขันธ์ สังกัดเอกชน และวิทยาลัยการอาชีพขุขันธ์ สังกัดรัฐบาล
136.สถาบันอาชีวะศึกษาของรัฐ ถือว่ามาลงขุขันธ์ช้ามาก เมื่อเทียบกับอำเภอระดับเดียวกัน อย่างขุนหาญ แยกจากอำเภอขุขันธ์ ก็มีแซงหน้าไปหลายปี มันเป็นเพราะอารายยย (บอกเจ้แหน่!!)
137.สถาบันอุดมศึกษาที่มีศูนย์อยู่อำเภอขุขันธ์ คือ มหาวิทยาลัยปทุมธานี
138.โรงเรียนที่เปิดสอนถึงระดับ ม.6 คือ รร.ขุขันธ์ รร.ขุขันธ์ราษฎร์บำรุง รร.ปรือใหญ่วิทยบัลลังก์ รร.ศรีตระกูลวิทยา รร.บ้านกันทรารมย์ รร.สวงษ์วิทยา รร.สะเดาใหญ่ประชาเสริมวิทย์ รร.ลมศักดิ์วิทยาคม
139.อำเภอขุขันธ์มีสถานสงเคราะห์ 1 แห่ง คือ สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่
140.อำเภอขุขันธ์เป็นอำเภอที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ
141.อำเภอขุขันธ์เป็นอำเภอที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองมากเป็นอันดับ  2 ของจังหวัดศรีสะเกษ
142.อำเภอขุขันธ์มีประชากร (2557) ประมาณ 145,235 คน แบ่งเป็นชาย 72,599 คน แบ่งเป็นหญิง 72,636 คน
143.อำเภอขุขันธ์ มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัด
144.อำเภอขุขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 914 ตร.กม มากเป็นอันดับ 3 ของจังหวัด
145.อำเภอขุขันธ์มีพื้นที่คิดเป็นไร่ ประมาณ 571,443 ไร่
146.อำเภอขุขันธ์มีจำนวนบ้านประมาณ 32,473 หลังคาเรือน มากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัด
147.เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 1.4 ตร.กม จัดเป็นเทศบาลตำบลขนาดกลาง และถือว่าเป็นเทศบาลที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในจังหวัด
148.ตำบลที่มีประชากรมากที่สุดในอำเภอขุขันธ์ คือ ตำบลโสน มีประชากรประมาณ 14,054 คน
149.ตำบลที่มีประชากรน้อยที่สุดในอำเภอขุขันธ์ คือ ตำบลศรีตระกูล มีประชากรประมาณ 3,472 คน
150.ตำบลที่มีหมู่บ้านมากที่สุดคือ ตำบลโสน มี 22 หมู่บ้าน
151.ตำบลที่มีหมู่บ้านน้อยที่สุด คือ ตำบลศรีตระกูล มี 7 หมู่บ้าน
152.อำเภอขุขันธ์ เป็นอำเภอที่มีตำบลมากที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ
153.อำเภอขุขันธ์มีน้ำตก  1 แห่ง คือ น้ำตกวัดถ้ำสระพงษ์
154.อำเภอขุขันธ์มีสถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่าจุฬาภรณ์ ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปเรียกว่าสวนสัตว์จุฬาภรณ์
155.อำเภอขุขันธ์มีสถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์กล้วยไม้  1 แห่งคือ สถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์กล้วยไม้นาจะเรีย
156.ปัจจุบันอำเภอขุขันธ์มีปราสาทหลงเหลือยู่ 2 แห่ง คือ ปราสาทวัดเจ๊ก และปราสาทตาเล็ง
157.หลังเทสโก้โลตัสขุขันธ์ มีหินโบราณวางเรียงอยู่จำนวนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า บัลลังก์เมืองขุขันธ์
158.วัดที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในอำเภอขุขันธ์ คือ วัดกลางอมรินทราวาส
159.พระศักดิ์สิทธิ์ ประจำเมืองคือ หลวงพ่อโตวัดเขียน และพระแก้วเนรมิต+องค์พญาครุฑ วัดลำภู
160.สิมลาวโบราณแห่งเดียวของขุขันธ์และศรีสะเกษ คือสิมวัดโสภณวิหาร ต.กันทรารมย์
161.รหัสไปรษณีย์อำเภอขุขันธ์คือ 33140
162.อำเภอภูสิงห์ก็ใช้รหัสไปรษณีย์ 33140 เหมือนกับอำเภอขุขันธ์
163.นายอำเภอขุขันธ์คนแรกคือ หลวงสุรัตนามัย (บุญมี ขุขันธิน)
164.นายอำเภอขุขันธ์คนปัจจุบันคือ นายสมศักดิ์ นิสัยสม
165.ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษคนปัจจุบัน คือ นายยุทธนา วิริยะกิตติ
166.ที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ ตั้งอยู่บนถนนไกรภักดี
167.บริเวณศาลหลักเมืองใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ก่อนหน้านี้เป็นตู้ยามตำรวจ
168.ศาลหลักเมืองโบราณของเมืองขุขันธ์ ตั้งอยู่หัวมุมวัดกลาง ติดแยกไปรษณีย์ คล้ายศาลจีน
169.ศาลหลักเมืองใหม่เมืองขุขันธ์ วางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ.2552 (ปีนี้ 2558 ก็ยังไม่เสร็จเลยยย)
170.อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) วางศิลาฤกษ์ เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2547
171.พิธีสมโภชน์อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ) ครั้งแรก คือ 1 ตุลาคม 2548
172.งานประเพณียิ่งใหญ่ประจำปีของชาวขุขันธ์ คือ งานประเพณีแซนโฎนตา
173.ชื่อเต็มงานแซนโฎนตา(เวอร์ชั่นปัจจุบัน) คือ งานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี
174.งานแซนโฎนตาเมืองขุขันธ์ถูกจัดเป็นงานประจำปีครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2543
175.ปีแรก ๆ ที่จัดงานแซนโฎนตา ทางผู้จัดงานได้ให้พ่อค้าแม่ค้านำกล้วยมาขายบริเวณที่ว่าการ ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยง ปีต่อ ๆ มาจึงได้ใช้ชื่องานว่า ลือเลื่องกล้วงแสนหวีร่วมด้วย และให้พ่อค้าแม่ค้าขายกล้วยจากทั่วไทยมาขายในงาน เรียกได้ว่า แสนหวี นี่น้อยไปเลยทีนี้
176.ประเพณีแซนโฎนตาขุขันธ์ มีชาวกัมพูชามาร่วมงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 (ปีนี้น่าจะมีเนอะ)
177.งานแซนโฎนตาขุขันธ์ ถือเป็นงานที่แต่ละคนจะแต่งตัวจัดเต็มทั้ง ช ญ ในชุดพื้นเมืองมาประชันกันทั้งเมือง
178.ศูนย์ OTOP ขุขันธ์ คือ เรือนสร้อยจิตร
179.บ้านตาอุด ต.ตาอุด ขึ้นชื่อเรื่องแตงโม
180.บ้านสะอาง ต.ห้วยเหนือ หมู่บ้านหัตถกรรมครุน้อย
181.บ้านหนองก๊อก ต.ห้วยสำราญ หมู่บ้านหัตถกรรมใบตาลส่งออก
182.บ้านใจดี ต.ใจดี หมู่บ้านเกวียนน้อย
183.บ้านลำภู ต.ใจดี หมู่บ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
184.พ่อจุม แสงจันทร์ ชาว ต.ศรีสะอาด คือเจรียงจับเป็ยฎองเวงเพียงคนเดียวของประเทศไทย
185.หมู่บ้านอิสลามขุขันธ์ อยู่บริเวณใกล้กับบ้านสะอาง ต.ห้วยเหนือ
186.ชุมชนชาวคริสต์ขุขันธ์ อยู่แถบ ต.ดองกำม็ด ต.หัวเสือ
187.ชาวขุขันธ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ + พรามณ์ + นับถือภูติผี
188.ขุขันธิน เป็นนามสกุลพระราชทาน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 และเป็นคำเฉพาะ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ(อักษรโรมัน)ได้ว่า Khukhandhin (ใครใช้นามสกุลนี้เขียนภาษาอังกฤษได้แบบนี้แบบเดียวน๊จ๊)
189.ตึกเก่าสองชั้นบริเวณแยกปศุสัตว์ขุขันธ์ ในอตีดเป็นโรงฝิ่น เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ หรือพูดคุยธุรกิจกันในสมัยนั้น (คล้าย ๆ ว่าเป็นผับบาร์ของสมัยนั้น)
190.ศาลากลางเมืองขุขันธ์ในอดีต อยู่บริเวณโรงฆ่าสัตว์เก่า (แถว ๆ หลัง Advice JJ comp)
191.โรงไฟฟ้าขุขันธ์ในอดีต อยู่บริเวณตรงข้ามร้านก๋วยเตี๋ยวต้นจามจุรีใหญ่ ทางไปบ้านแทรง ต.ห้วยสำราญ
192.บริเวณโรงจอดรถ หจก.ศรีสะเกษทรัพย์ไพบูลย์ ติดลำห้วยเหนือ ทางไปบ้านแทรง ต.ห้วยสำราญ เคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนมาก่อน
193.คนมักเปรียบเทียบว่า รร.ขข ดีกว่า รร.ขรบ (ทั้ง ๆ ที่สอง รร.นี้อยู่คนละสังกัด และจัดตั้งมาคนละจุดประสงค์)
194.ถ้าคุณเรียนอยู่ที่โรงเรียนขุขันธ์ และมีคนถามคุณว่าคุณเรียนอยู่โรงเรียนไหน และคุณตอบไปว่าเรียนอยู่โรงเรียนขุขันธ์ เค้าจะถามคุณกลับมาทันทีว่า ขุขันธ์ไหนหรอ?
195.โรงเรียนขุขันธ์ คนมักเรียกว่า โรงเรียนขุขันธ์ใหญ่
196.ตึกสมเด็จพระพุทธาจารย์ รร.ขุขันธ์ราษฎร์บำรุง คือตึกที่สูงที่สุดในขุขันธ์
197.คลินิกแพทย์ที่ครองใจชาวขุขันธ์ คือ คลินิกหมอบ้านเรา
198.บริเวณโรงเรียนขุขันธ์ในอดีต เป็นป่าช้า+ป่าพยุงค์ หนาแน่น (ทุกวันนี้เหลือกี่ต้นหนอ?)
199.ร้านส้มตำชื่อดังในขุขันธ์คือ ร้านส้มตำยายเหมา
200.ร้านส้มตำที่ราคาแพงสุด ๆ ในขุขันธ์ คือ ร้านส้มตำยายเหมา (แม่เจ้า!! ครกละ 50 บาท ร้องไห้หนักมาก)
201.ร้าน Steak สุดหรูในขุขันธ์ คือ Infinity Steak House
202.ที่พักสุดหรูที่สุดในขุขันธ์ คือ โรงแรมสวัสดีรีสอร์ท
203.ที่พักสุดหรูอิงธรรมชาติสุด ๆ ในขุขันธ์ คือ โรงแรมบ้านสวนศรีสุภาพ
204.เรามีนัดช็อปกันที่ถนน/ลานสวนไผ่ ข้างโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง ทุกวันที่ลงท้ายด้วยเลข 8
205.Walking Street (ตลาดถนนคนเดิน) เมืองขุขันธ์ มีทุกเย็น ดึก วันพฤหัสบดี (น่าจะขยายหรือย้ายที่เนอะ เล็กนิดเดียวเอง)
206.เดี๋ยวนี้ขุขันธ์มี KFC แล้วนะ อยู่เทสโก้โลตัสขุขันธ์
207.งานประเพณีไทยที่จัดในตัวเมืองขุขันธ์ ได้แก่ วันปีใหม่สากล (ตักบาตร), วันสงกรานต์ , แห่เทียนพรรษา, ลอยกระทง
208.อำเภอขุขันธ์ กำลังจะมีสำนักงานข่นส่ง (ไม่รู้จะมาจริงๆหรือเปล่า เพราะข่าวเงียบไปเลย)
209.อำเภอขุขันธ์มี บขส. แต่หลายคนไม่รู้จัก และไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
210.อำเภอขุขันธ์ไม่มีสถานีขนส่งผู้โดยสาร (น่าจะมีได้แล้วนะ)
211.หลวงพ่อโตวัดเขียนบูรพาราม เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง
212.อัฐิตากะจะหรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก อยู่ในเจดีย์ธาตุโบราณหน้าอุโบสถวัดบกจันทร์นคร
213.ตากะจะหรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้ร่ำเรียนกับพระอาจารย์บัว เจ้าอาวาสวัดลำภูขณะนั้น และได้ตั้งหลักเมืองที่นี่ด้วย ทุกวันนี้ชาวบ้านได้บูรณะหลักเมืองขึ้นใหม่แล้ว
214.ด้านหลังวัดลำภู ในปัจจุบัน มีต้นมะขามใหญ่ 1 ต้น เป็นต้นมะขามที่ตากะจะหรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้ปลูกขึ้น ปัจจุบันชาวบ้านได้ตั้งศาลปู่ตาขึ้น เรียกว่า ศาลาตาไกร
215.อำเภอขุขันธ์เคยมีตาลประหลาด ออกยอดถึง 9 ยอด อยู่บริเวณบ้านตาดม ต.ห้วยใต้ ปัจจุบันได้ตายแล้ว
216.อำเภอขุขันธ์เคยมีปาล์มออกยอดออกมาคล้ายเศียรพญานาคถึง 9 เศียร ที่ต้นปาล์มข้างอนุสาวรีย์ตากะจะ
217.เมืองขุขันธ์เคยมีเจ้าเมืองในบรรดาศักดิ์ พระยาทั้งหมด 9 ท่าน
218.เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านสุดท้าย (ท่านที่ 9) คือท้าวปัญญา ขุขันธิน
219.เมืองขุขันธ์ในอดีต มีอำนาจเด็ดขาดในตนเอง โดยให้อำนาจแก่เจ้าเมืองสามารถตัดสินคดีความและประหารชีวิตผู้ทำผิดได้
220.บริเวณประหารชีวิตนักโทษของเมืองขุขันธ์ ปัจจุบันคือบริเวณระหว่างบ้านตาปิ่น บ้านบก ต.ห้วยเหนือ
221.วังของเจ้าเมืองขุขันธ์ในอดีต อยู่บริเวณ คุ้มบ้านเวียง ของบ้านบก ต.ห้วยเหนือในปัจจุบัน
222.สมัยก่อน เมืองขุขันธ์มีซีอุย (น่ากลัวเนอะ)
223.ชาวขุขันธ์ในสมัยโบราณถูกเรียกว่า ชาวเขมรป่าดงเพราะใช้ภาษาสำเนียงภาษาเขมร/กวยในการสื่อสาร
224.ศาลหลักเมืองที่กำลังก่อสร้างอยู่นี้ เป็นเพียงศาลหลักเมืององค์จำลอง เพราะตามความเชื่อไม่สามารถย้ายหลักเมืองได้
225.หนองสะอาง ถือเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดในขุขันธ์
226.อำเภอขุขันธ์ถูกน้ำท่วมรุนแรงครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.2556
227.นาฎกรรมโบราณของเมืองขุขันธ์ คือ โขนขุขันธ์ ปัจจุบันไร้ทายาทสืบศิลป์และไม่มีการอนุรักษ์
228.ในอดีตอำเภอขุขันธ์เคยมีงานตรุษจีน ปัจจุบันไม่จัดแล้ว คนตีกันทุกคืนเลย (ร้องไห้หนักมาก)
229.ก่อนหน้าที่งานใหญ่ประจำปีของขุขันธ์จะเป็นงานแซนโฎนตา เราจัดงานตรุษจีนเป็นงานประจำปี
230.แต่ก่อนเคยมีงิ้วแสงที่วัดกลางด้วย เดี๋ยวนี้ไม่รู้ยังมีหรือเปล่า
231.บริเวณที่ดินข้างร้านเพชรลำภู เคยเป็นตลาดนัดคลองถม ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว (อยากให้มีอีกจัง)
232.บริเวณหน้าที่ว่าการและห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ จะเป็นจุด Meeting Point ของนักเรียนในวันหยุด
233.อำเภอขุขันธ์ไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีเพียงสวนหย่อมเล็ก ๆ สำหรับติดตั้งเครื่องออกกำลังกายไม่กี่ชิ้น
234.สนามหน้าที่ว่าการในเวลาพลบค่ำ จะเป็นศูนย์ Sport Complex Exercise ทันที
235.หน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ช่วงตั้งแต่พระอาทิตย์ตกนี่มืดอย่าบอกใคร (ทุกวันนี้สว่างขึ้นยังอ่?)
236.ลานหน้าอนุสาวรีย์ตากะจะในช่วงเย็น ๆ จะมีคุณลุงคุณป้าคุณน้าคุณยายมาเต้นไทเก๊ก (ทุกวันนี้ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า)
237.ศูนย์รวมอาหารมื้อเย็นคือตลาดโต้รุ่งขุขันธ์
238.ช่วงเช้ามืดจะมีรถจอดยาวหน้าตลาดสดเต็มไปหมด เป็นรถที่มาซื้อของตลาดเช้าเองจ้า
239.บรรยากาศตลาดเช้าขุขันธ์ ใครที่เคยมาจะรู้ว่าคึกคักมากมาย (เดินแทบชนกันเลยจ้า)
240.ถ้าฝนตกหนักๆ ถนนตลาดโต้รุ่ง ถนนบ้านตาปิ่น – บ้านบก ถนนศรีสะเกษ - ขุขันธ์ช่วงหน้าตลาดสดฝั่งข้างสุด ถนนในตลาดสด จะเปลี่ยนสถานะเป็นคลองทันที ถ้าหนักมาก ๆ ถนนหน้าส่องแสงโฮลเซลส์ก็จะเปลี่ยนเป็นคลองเหมือนกัน
241.เมืองขุขันธ์มีไฟฟ้าส่องสว่างถนนที่ไม่เพียงพอมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ขนาดสี่แยกไปรษณีย์ยังมืดตึ๊บเลย ไม่เชื่อคืนนี้ออกมาพิสูจน์นะ
242.อำเภอขุขันธ์เคยมีโรงหนังด้วยนะ ชื่อโรงหนังวัฒนะศิลป์ อยู่บริเวณแถวตรงข้ามร้านส้มตำยายเหมา ทุกวันนี้จะดูหนังทีก็ต้องตีรถไปตัวจังหวัด หรือข้ามจังหวัดกันเลย
243.แต่ก่อนเรามีตลาดสดแห่ง เดียว คือตลาดข้างไปรษณีย์ขุขันธ์ แต่ก่อนแถวนี้คึกคักมากมาย แต่พอมีตลาดสดแห่งที่สอง ทุกวันนี้ตลาดเก่านี่เหลือร้านค้าไม่กี่ร้านเอง อาคารก็ปล่อยให้ทรุดโทรม ทั้ง ๆ ที่โครงสร้างยังแข็งแรงมากๆ
244.ถ้าไม่มีการแยกอำเภอต่าง ๆ ออกจากอำเภอขุขันธ์ อำเภอขุขันธ์จะมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลมตร และมีประชากรประมาณ 400,000 คน (มัน ใหญ่ มว๊ากกจริงงๆ)
245.ศูนย์รวมของอร่อยอีกจุดหนึ่งของของขุขันธ์ คือหน้าที่ว่าการอำเภอ (กาแฟ ผลไม้ ลูกชิ้น ขนม ครบองค์จ้า)
246.อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ ถือว่าอเมซิ่งสุด ๆ เพราะตั้งอยู่กลางบึงบัว
247.ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของขุขันธ์ คือร้านมิตรศิลป์ อยู่ในตึกไม้เก่าฝั่งตรงตึกสามชั้นข้างๆ สภ.ขุขันธ์
248.ตึกไม้เก่าชั้นเดียวหลังสุดท้ายของถนนไกรภักดี(เส้นหน้า สภ.ขุขันธ์) คือโรงน้ำแข็ง/โรงไอติม แห่งแรกของอำเภอขุขันธ์
249.รถบัสมิตรนิยม ศรีสะเกษ – ขุขันธ์ คือรถบัสสายแรกและสายเดียวในขุขันธ์ กว่าจะถึงศรีสะเกษนี่หลับไปหลายตลบเลย หวานเย็นจริง ๆ (น่าจะยกเลิกสัมปทานทาง เพื่อให้มีคู่แข่งเป็นทางเลือกของประชาชนเนอะ)
250.พื้นที่อำเภอขุขันธ์มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ลาดเอียงจากทิศใต้ลงมาทิศเหนือ
251.พื้นที่ตัวอำเภอขุขันธ์ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเป็นอย่างมาก
252.ถนนไกรภักดี เป็นถนนสำคัญในอดีต แต่ปัจจุบันไม่ค่อยคึกคักทางด้านเศรษฐกิจนัก อาจเป็นเพราะว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเพราะเป็นที่ราบลุ่ม/เป็นทางน้ไหลผ่าน การลงทุนต่าง ๆ บนถนนเส้นนี้จึงไม่ค่อยมี
253.บริเวณสะพานข้ามห้วยเหนือ บริเวณบ้านห้วย เคยมีโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่าสะพานโรงเลื่อยเก่า ปัจจุบันยังหลงเหลือสะพานไม้ขนาดใหญ่และไม้แก่นจำนวนมากให้เห็น
254.แถวร้านส้มตำยายเหมา ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนด้วย ชื่อโรงเรียนสีหบัณฑิต (น่าจะเป็น รร.มัธยม)
255.อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน ถือได้ว่ากำลังเข้าสู่สังคมเมืองอย่างเต็มรูปแบบ
256.หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของอำเภอขุขันธ์อีกจุดหนึ่ง

ขอขอบคุณ
สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์
Wikipedia
เฟซบุ๊ค  สาคร ตัณฑะกูล
พ่อ แม่ พี่ น้อง ป้า น้า อา ตา ญาติ ๆ
อื่น ๆ ที่ไม่ได้เอ่ยถึง...

ขออภัยหากมีการพาดพิงถึงท่านและข้อมูลผิดพลาดในบางจุด

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณครับ ที่ให้ความรู้ ขอบคุณมากๆๆครับผม

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ4 พ.ค. 2565 13:28:00

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ