วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วัดเจ๊กโพธิพฤกษ์

วัดเจ๊กโพธิพฤกษ์
 

วัดเจ๊กโพธิพฤกษ์ เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองขุขันธ์ มีประวัติหลาย ๆ อย่างเกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองขุขันธ์ ตามคำบอกเล่า วัดเจ๊ก เป็นวัดที่คนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่เมืองขุขันธ์ ซึ่งมีฐานะร่ำรวย ได้สร้างขึ้น นอกจากนี้ในภายในวัดเจ๊กโพธิพฤกษ์ ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ
 
ปราสาทกุด
 ปราสาทกุดหรือปราสาทวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ ์ ตั้งอยู่ในเขตวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์ บริเวณบ้านเจ๊ก ต.ห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์  เป็นโบราณสถานก่อด้วยอิฐ  ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลาย กลายเป็นเนินโบราณสถาน   มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนเนินดินใหญ่  ผนังแต่ละด้านจะก่ออิฐเป็นช่องคล้ายประตู  โดยก่ออิฐทึบทั้งหมด  มีความสูงประมาณ 15 เมตร  ส่วนยอดหักพังลงมาจนถึงเรือนธาตุ  โบราณสถานแห่งนี้คงสร้างมาในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือพุทธศตวรรษที่ 23-24 (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 120)  

โดยในปี พ.ศ.2557 นี้ ปราสาทกุด ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก ประกอบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีผู้ใดหรือหน่วยงานใดเข้ามาดูแลเลย ทางกรมศิลปากรเมื่อทราบจึงได้ออกประกาศบูรณะปฏิสังขรปราสาทแห่งนี้ขึ้นมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตู้พระธรรมวัดเจ๊ก
 

 ตู้พระธรรมของวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์ เป็นงานศิลปะฝีมือที่สวยงามมาก ผู้พระธรรมลายรดน้ำมีขนาด ๑.๕๘ เมตร กว้าง ๐.๖๔ เมตร ยาว ๐.๙๓ เมตร บานประตูเขียนลายกนกเปลว ด้านข้างทั้งสองเขียนลวดลายพันธุ์ไม้ ลวดลายที่เขียนขึ้นมีภาพเล่าเรื่องประกอบทุกด้าน ลักษณะลวดลาย ของตู้พระธรรมนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก ภาคกลางอยู่มาก ถึงแม้จะมีสอดแทรกลายพื้นเมืองอยู่บ้านก็ตาม ลายกรอบบานประตูดอกไม้ คล้ายดอก พุดตานและขาตู้ ซึ่งมีลักษณะแบบจีนนิยมทำกันอย่างแพร่หลาย ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงสันนิษฐานได้ว่า ตู้พระธรรมนี้มีอายุได้ ๑๐๐ ปี มาแล้วหรือ ในราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ตู้พระธรรมนี้อยู่ในวัดเจ๊กโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งตั้งอยู่ริมถนนศรีสะเกษ-ขุขันธ์ ก่อนเข้าสู่อำเภอเมืองขุขันธ์

----------------------------------------------------------------------------------------------
พระแผงไม้แกะสลัก
แผงพระพิมพ์ชนิดไม้แกะสลัก เป็นศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษ ที่ ๒๔ มีความสูง ๑๒๑.๕ เซนติเมตร กว้าง ๓๔.๕ เซนติเมตร มีพระในแผงพระพิมพ์ ๔๘ องค์ ลักษณะของพระพุทธรูปที่ปรากฏในแผงพระพิมพ์ มีความแตกต่างกัน โดยมีข้อสันนิษฐานเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
--------------------------------------------------------------------------------------------
 นอกจากนี้บริเวณโดยรอบวัดเจ๊ก ยังพบฐานศิวลึงค์ สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ตามลัทธิความเชื่อของศาสนาฮินดู ขุดพบที่บัลลังก์เทวสถานเก่าห่างจากวัดเจ๊กประมาณ ๗๐๐เมตร แท่นศิวลึงค์ทำมาจากหินทราย ซึ่งเป็นชั้นหินใต้สุดที่ได้ขุดพบขึ้นมา มีลักษณะอ่อนนิ่ม เมื่อนำมาประดิษฐ์หรือแกะสลักตามลักษณะของรูปร่างแล้ว ทิ้งไว้พักหนึ่งหินก็จะมีลักษณะแข็งตัว ลักษณะพิเศษ หินทรายเป็นหินที่ละเอียด และแข็งแกร่งนำมาก่อสร้างโบราณสถานของขอมสมัยโบราณนิยมนำหินทรายมาแกะสลักทับหลังรูปต่าง ๆ เช่น ศิลาทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ทับหลัง พระอิศวรทรงโตศิลาที่ทับหลัง พระอินทร์ทรงช้าง เป็นต้น เพราะเนื้อหินมีผิวที่ละเอียดสวยงาม
ปัจจุบันฐานศิวลึงค์ดังกล่าว ได้นำมาเก็บไว้ที่บริเวณด้านหน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดเจ๊ก

การเดินทางมาวัดเจ๊ก
จากจังหวัดศรีสะเกษ ใช้ทางหลวงหมายเลข 220 ระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่ฝั่งขวามือ ติดกับวิหารพระแม่กวนอิมฯ
-----------------------------------------------------------------------------------------
อุโบสถวัดเจ๊กโพธิพฤกษ์ ซึ่งทางวัดได้ทำการบูรณะใหม่ และกำลังจะมีพิธียกช่อฟ้าและผูกพัธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตอุโบสถ ในช่วงปีใหม่ 2558 นี้

ขอขอบคุณข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น