วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ศาลหลักเมืองขุขันธ์)

สวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ)
และศาลหลักเมืองใหม่เมืองขุขันธ์

ประวัติความเป็นมา
เมืองขุขันธ์เดิมเป็นชุมชนเขมรป่าดง มีผู้นำชุมชน คือ ตากะจะ ต่อมาพญาช้างเผือกแห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ หนีออกจากโรงมาทางเทือกทิศตะวันออกเฉียงใต้ จึงทรงให้ทหารเอกสองคนนามว่า ทองด้วงและ บุญมา” (ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และสมเด็จพระราชบวรมหาสุรสีหนาถ)ออกติดตามมาจนถึงชุมชนเขมรป่าดง ซึ่งก็คือบริเวณโคกลำดวน ซึ่งเป็นบริเวณหมู่บ้านที่ตากะจะอาศัยอยู่ ตากะจะพร้อมลูกบ้านเมื่อทราบเช่นนั้น จึงได้ช่วยกันติดตามพญาช้างเผือกจนพบ และนำส่งกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ทรงทราบเหตุการณ์ที่ตากะจะ และพวกพ้อง ได้ช่วยกันติดตามช้างเผือกมงคลนี้ จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตากะจะและพรรคพวกให้มีบรรดาศักดิ์ระดับ หลวงซึ่งตากะจะ ได้รับพระราชทานให้เป็น หลวงแก้วสุวรรณและเป็นหัวหน้าหมู่บ้านชาวเขมรป่าดงบริเวณเมืองขุขันธ์ ต่อมาหลวงแก้วสุวรรณได้ส่งส่วยซึ่งเป็นที่จำเป็นในกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ทรงพึงพอใจในความจงรักภักดีของหลวงแก้วสุวรรณและลูกบ้าน ที่ได้ส่งส่วยมาให้เมืองหลวงเป็นประจำ จึงทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ตากะจะอีกครั้ง จากหลวงแก้วสุวรรณ เป็น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนยกฐานะบ้านโคกลำดวนเป็น เมืองขุขันธ์และให้พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ ซึ่งท่านก็คือเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกและเป็นผู้ก่อตั้งสร้างบ้านแปลงเมืองขุขันธ์ด้วยนั่นเอง

จากความสำคัญของเมืองขุขันธ์ในข้างต้น ทางอำเภอขุขันธ์จึงเห็นความสำคัญในส่วนนี้จึงได้ประชุมกับ อปท.ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนขึ้นในปี พ.ศ.2547 และได้มีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระยาไกรฯ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และแล้วเสร็จในต้นปี 2548 หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ฯ ให้สวยงาม โดยบริเวณอนุสาวรีย์ได้นำรูปหล่อครอบครัวช้างเผือกมงคลมาตั้งประดับบารมีให้อนุสาวรีย์ฯ ด้วย เนื่องจากมีแนวคิดย้อนกลับไปว่า หากไม่มีช้างเผือกมงคลแตกโรงหนีเตลิดหลุดออกมาหาครอบครัวที่บริเวณเมืองขุขันธ์นี้ ก็คงจะไม่มีเมืองขุขันธ์จนถึงทุกวันนี้ และตั้งชื่อบริเวณอนุสาวรีย์ฯ ว่า สวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ)และได้มีการจัดงานเฉลิมฉลององค์อนุสาวรีย์ฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นวันจัดงาน รำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ซึ่งก็ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่โด่งดังไกลไปทั่วประเทศ
 


ต่อมาในปี 2552 คณะสงฆ์อำเภอขุขันธ์ได้ประชุมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องศาลหลักเมืองขุขันธ์ โดยมีมติให้สร้างศาลหลักเมืององค์จำลององค์จริงขึ้นบริเวณสวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เนื่องจากบริเวณศาลหลักเมืองแห่งเดิมมีขนาดคับแคบ และอยู่ในมุมอับ ไม่เป็นที่โดดเด่นแก่ผู้ที่ผ่านไปมาและพื้นที่เล็กไม่เหมาะที่จะประกอบพิธีขนาดใหญ่ได้นั่นเอง และเพื่อเป็นการเสริมดวงให้เมืองขุขันธ์อีกด้วย ปัจจุบัน (ปี 2557) การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนคืบหน้าไปกว่า 85% แล้ว เหลือเพียงการตกแต่งเก็บรายละเอียดและปรับภูมิทัศน์ คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นานก็จะเสร็จสมบูรณ์

ปัจจุบัน (ปี 2557) ได้มีการปรับปรุงบริเวณสวนพระยาไกรฯ แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการสร้างงูเจ็ดเศียรและซุ้มประตูแบบขอมโบราณหรือที่เรียกว่า โคปุระ บริเวณทางเข้าสวนพระยาไกรฯ แห่งนี้ ซึ่งก็เพิ่มเสน่ห์และมนต์ขลังให้กับอนุสาวรีย์พระยาไกรฯ และเมืองขุขันธ์อีกด้วย
 



อนึ่งเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆที่เริ่มมีการก่อสร้างศาลหลักเมือง ณ บริเวณสวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ได้เกิดอัศจรรย์เหตุขึ้นกับต้นปาล์ม ซึ่งปลูกอยู่สองข้างองค์อนุสาวรีย์พระยาไกรฯ กล่าวก็คือ ต้นปาล์มต้นที่ 10 ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือองค์อนุสาวรีย์พระยาไกรฯ(นับรวมจากใต้ - เหนือ) ได้ออกยอดใหม่ แต่ที่เป็นที่ประหลาดใจก็คือ ต้นปาล์มต้นนี้ออกยอดใหม่พร้อมกันถึง 9 ยอด และแต่ละยอดมีลักษณะคล้ายเศียรพญานาค 9 เศียร เป็นที่ประหลาดใจกับผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก ผู้ที่อยู่ใกล้-ไกล ที่ทราบข่าว ต่างหลั่งไหลมาชมและสักการะเป็นจำนวนมาก บ้างก็ว่า หรือว่าตาลเก้ายอดฟื้นคืนชีพบ้างก็ว่า เป็นอิทธิฤทธิ์บารมีของเจ้าเมืองขุขันธ์ทั้ง 9 ท่านเพราะเมืองขุขันธ์เคยมีเจ้าเมืองระดับพระยาถึง 9 ท่าน ทำให้ข่าวนี้ลือเลื่องไปไกล...ต่อมาเมื่อยอดปาล์มผลิยอดเป็นใบแบบปกติ ก็มีผู้นำองค์พระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความอัศจรรย์ ปัจจุบันยังคงมีผู้มาสักการะบูชาตามความเชื่อแบบไม่ขาดสาย

 
 





วัตถุประสงค์ในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์
1.เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์และความดีของบรรพบุรุษ ว่าในสมัยนั้นมีเจ้าเมืองทั้งหมดกี่คนและมีใครบ้าง
2.เพื่อต้องการเทิดทูนความกล้าหาญ  คุณงามความดีที่ท่านได้ก่อตั้งเมืองขุขันธ์ขึ้นมาเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเกียรติคุณของเจ้าเมืองขุขันธ์
3.เป็นศูนย์รวมใจของชาวอำเภอขุขันธ์
4.เป็นที่สักการะบูชาของชาวอำเภอขุขันธ์ และนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาได้กราบไหว้
5.เสริมสร้างความสามัคคีของชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคนให้เกิดความรักชาติ  รักแผ่นดินเกิด
6.เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในบ้านเกิด

นอกจากนี้บริเวณสวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) แห่งนี้ ยังเป็นที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวขุขันธ์อีกด้วย


ที่ตั้งและการเดินทาง
สวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองขุขันธ์ ลักษณะเป็นสวนหย่อมสวนสาธารณะขนาดกลางใจกลางเมือง ตั้งอยู่หัวมุมแยกขุขันธ์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ ระยะทางจากจังหวัดศรีสะเกษประมาณ 50 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 (สายศรีสะเกษ – ขุขันธ์) และห่างจากถนนสายยุทธศาสตร์ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ เป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
 

 










ขอขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก : สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น