วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560

3 สิ่งที่ไม่ไม่ได้เห็นในงาน "แซนโฎนตาขุขันธ์ 2560"



3 สิ่ง หรือ 3 เรื่องสำคัญที่ไม่ได้เห็น หรือไม่ถูกยกมาเป็นสิ่งสำคัญ หรือไม่มีให้เห็นแล้วในงานประเพณีแซนโฎนตาขุขันธ์ ปี 2560 ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและควรอนุรักษ์หรือนำมานำเสนอเพื่อ

เป็นความรู้ให้กับคนรุ่นหลังได้สืบสานเจตนารมณ์

ซึ่งสามสิ่งสามเรื่องที่จะกล่าวถึงนี้ อยากให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการรับสาร และใคร่คิดพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรกว่าควรจะมี หรือไม่มีอย่างไร

เรื่องแรก - ไม่มีพิธีช้างกราบสักการะอนุสาวรีย์พระยาไกรฯ
ตามประวัติศาสตร์ที่ทราบกันดีว่าตากะจะหรือท่านพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ปฐมเจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นผู้ชำนาญในด้านศาสตร์การจับช้าง จากการจับช้างเผือกคู่บารมีพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่งคืนกรุงศรีฯ ทำให้เกิดเมืองขุขันธ์ขึ้นมา แต่ในพิธีแซนโฎนตา ไม่ได้มีการนำช้างมาสักการะอนุสาวรีย์ท่านแต่อย่างใด (ปี พ.ศ.2560 มีปรากฏช่วงท้ายการแสดงแสง สี เสียง ตำนานเมืองขุขันธ์ ซึ่งตอนนั้นน่าจะเป็นควาญช้างนำช้างมาสักการะตามธรรมเนียม ซึ่งผู้คนทยอยกลับเกือบหมดแล้วและไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจ) เมื่อขบวนช้างอัญเชิญเจ้าเมืองมาถึง น่าจะมีการนำช้างเข้าสักการะอนุสาวรีย์ให้เป็นพิธีก่อน เพื่อให้เป็นพิธีเชิงประจักษ์ว่าท่านเป็นผู้ชำนาญในด้านศาสตร์การจับช้าง
ภาพแสดงการจับช้างของตากะจะ การแสดง แสง สี เสียงตำนานเมืองขุขันธ์

ในเรื่องนี้อาจจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้ เช่น ในเรื่องของพื้นที่ที่ไม่เพียงพอ เพราะประชาชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก หากจะให้เกิดขึ้นได้ การจัดการผู้คนให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเพื่อให้ช้างเข้าบริเวณพิธีต้องรัดกุมและปลอดภัยเพียงพอด้วย และการสร้างซุ้มประตูที่ยิ่งใหญ่สวยงามเข้าบริเวณพิธีที่ทำกันมาหลาย ๆ ปีอาจเป็นปัจจัยร่วมด้วย รวมทั้งปัจจัยด้านความปลอดภัยอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ควรมีในงานแซนโฎนตาขุขันธ์ในทุก ๆ ปี เพราะเมืองขุขันธ์และช้าง และพระยาไกรฯกับช้าง เป็นของคู่กัน ไม่อาจแยกออกจากประวัติหรือตำนานได้

เรื่องที่สอง - ไม่มีตัวแทนชาวกัมพูชามาร่วมงานเหมือนที่เคยเกิดขึ้น
อ้างอิงจากหน้า 72 วิทยานิพนธ์เรื่อง "ประเพณีประดิษฐ์กับการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม กรณีศึกษา งานเทศกาลประเพณีแซนโฎนตา อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (เมธาวี ศิริวงศ์, 2556)" โดยในปี พ.ศ.2550 ได้มีการเชิญคณะตัวแทนชาวกัมพูชาจากอัลลองเวงมาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ยังมีขบวนจากอำเภอใกล้เคียงมาร่วมด้วยเช่นกัน
บางส่วนจากวิทยานิพนธ์ฯ

ถือเป็นเรื่องที่ดีหากมีการเชิญชาวกัมพูชามาร่วมงานอย่างที่เคยมีมา เพราะอย่างน้อย ๆ ตามประวัติศาสตร์พื้นที่แถบชายแดนกัมพูชาก็เคยอยู่ในปกครองของเมืองขุขันธ์มาก่อน และยังมีภาษาและวัฒนธรรมที่เหมือนกัน มีบรรพบุรุษร่วมกัน หาใช่ใครอื่นไม่ก็พี่น้องปู่ย่าของเรา ๆ นั่นเอง และถือเป็นการช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและถือเป็นการประชาสัมพันธ์งานประเพณีแซนโฎนตาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก

หากพูดถึงการเดินทางผ่านแดนถือว่าไม่ยากในปัจจุบันนี้หากมีการเชิญชาวกัมพูชาร่วมงานจริง ๆ แต่อาจด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างจึงไม่สามารถทำได้ ส่วนการเชิญขบวนเพื่อนบ้านอำเภอข้างเคียงมาร่วมดังเช่นเคยนั้นถือว่าไม่ง่ายเพราะแต่ละพื้นที่เริ่มจัดประเพณีแซนโฎนตาเช่นเดียวกัน

เรื่องสุดท้าย - ไม่มีการแสดงโขนขุขันธ์ให้ได้ชม
โขนขุขันธ์ถือเป็นนาฏศิลป์เลื่องชื่อของเมืองขุขันธ์ มีแบบเฉพาะของขุขันธ์เอง โดยมีการนำโขนทั้งจากกัมพูชาและกรุงเทพฯ มาปรับให้เข้ากับท้องถิ่นเมืองขุขันธ์ ทั้งท่าทาง บทพูดภาษาเขมร และเรื่องที่แสดง การแสดงโขนขุขันธ์ครั้งล่าสุดคือการแสดงในงานดอกลำดวนบานในช่วงแรก ๆ ที่มีการจัดงานดังกล่าว แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏการแสดงสด ณ ที่ใด ๆ


ภาพการแสดงโขนขุขันธ์ จากวิกิพีเดีย

นาฏยศิลป์ถิ่นขุขันธ์นี้ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของขุขันธ์ แต่การนำมาแสดงสดในยุคนี้ถือว่าไม่ง่าย เพราะต้องใช้ผู้ที่ชำนาญในการแสดงโขน และการทำอาภรณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาตามฉบับเมืองขุขันธ์ รวมทั้งการรื้อฟื้นเรื่องราวต่าง ๆ บทประพันธ์ บทละครก็อาจจะใช้งบประมาณ หรือเวลาไม่น้อยและไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากจะให้ได้ท่วงทำนองเช่นอดีตก็ต้องใช้ภาษาเขมรขุขันธ์ในการแสดง ซึ่งชาวเขมรขุขันธ์ที่ชำนาญโขนในปัจจุบันนั้นยังมีอยู่หรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้
-------------------------------------------------------------------------------
ทั้งสามเรื่องราวที่ได้กล่าวในข้างต้น ส่วนตัวผู้เขียนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะปัจจุบันงานแซนโฎนตาขุขันธ์ไม่ใช่งานประเพณีเดี่ยว แต่เป็นงานประเพณีประดิษฐ์ที่กลายเป็นงานแสดงทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และยาวนานที่สุดในจังหวัดไปแล้ว ดังนั้นเพื่อยกย่อง เชิดชู รำลึก รื้อฟืน อนุรักษ์ และสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษของเรา สิ่งเหล่านี้หรืออีกหลายสิ่งที่ถูกลืมหรือยังไม่ได้นำมายกย่องนำเสนอก็สมควรแก่เวลาแล้ว ปีนี้ไม่ได้เห็นไม่เป็นไร ปีหน้าไม่ได้เห็นก็ไม่เป็นไร ผู้เขียนในฐานะเป็นทั้งผู้ร่วม ผู้ชม เจ้าบ้านและนักท่องเที่ยว ก็หวังอยากเห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อยเหล่านี้หรืออีกหลายสิ่งปรากฏต่อสาธารณชนเพื่อยกย่องนำเสนอต่อไป แม้อีกสิบปีก็จะรอชม และคิดว่าอีกหลายท่ายก็คงมีความเห็นไม่ต่างกันไปจากนี้
-------------------------------------------------------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น