วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจโครงข่ายคมนาคมพื้นที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ


15 ตุลาคม 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่อำเภอขุขันธ์ เพื่อตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 สายอำเภอปราสาท (จ.สุรินทร์) –
อำเภอขุขันธ์ (จ.ศรีสะเกษ) เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อเชื่อม จ.สุรินทร์และ จ.ศรีสะเกษ และพิจารณาสนับสนุนโลจิสติกส์ให้กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 (ศรีสะเกษ – ขุขันธ์) และ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 พร้อมทั้งลงพื้นที่ตัวอำเภอขุขันธ์เพื่อเตรียมพิจารณาก่อสร้างสะพานลอยหน้าทางเข้าโรงเรียนขุขันธ์ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาของโรงเรียนขุขันธ์อีกด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 สาย อ.ปราสาท-อ.ขุขันธ์ - แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2085 ตอนที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมีนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง นายอภิสิทธ์ พรหมเสน รองอธิบดีกรมทางหลวงให้การต้อนรับ โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าว เป็นการขยายช่องจราจร ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ตั้งแต่ กม.189+800 – 224+800 ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนให้เดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย



ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้เน้นย้ำในมาตรฐานความปลอดภัย ป้ายเตือนต่าง ๆ ในระหว่างก่อสร้าง และให้พิจารณาโครงข่ายทางหลวงให้ครอบคลุม สนับสนุนโลจิสติกส์ทั้งทางหลวงหแผ่นดินมายเลข 220 (สายศรีสะเกษ – ขุขันธ์) และ 226

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
โดยท่านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะยังได้ลงพื้นที่ตรวจบริเวณที่จะทำการพิจารณาก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าโรงเรียนขุขันธ์ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 สายศรีสะเกษ – ขุขันธ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบริเวณหน้าโรงเรียน อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียนและประชาชน รวมถึงแก้ไขปัญหาการจราจร ปลูกฝังวินัยการจราจรให้แก่เด็กนักเรียน ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทรัพย์สิน โดยเฉพาะช่วงเวลาเช้า – เย็นที่เด็กนักเรียนเดินทางไป – กลับได้อย่างปลอดภัย โดยมอบให้กรมทางหลวงพิจารณาแนวทางสะพานลอยคนข้ามให้มีความเหมาะสม


อนึ่ง จากรายงานความหนาแน่นของการจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 สายศรีสะเกษ – ขุขันธ์ พบว่ามีปริมาณหนาแน่นเฉลี่ยเกือบ หมื่นคันต่อวัน เห็นสมควรแก่การสร้างสะพานลอยคนข้ามในจุดถนนกว้างและมีรถหนาแน่น รวมทั้งการขยายเพิ่มช่องจราจรด้วย ซึ่งบริเวณที่จะทำการก่อสร้างสะพานลอยนั้น ถือเป็นบริเวณที่ถนนกว้างถึง 12 ช่องจราจร และมีการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน (อ่านเพิ่ม การจราจรเมืองขุขันธ์แน่น! ปี'58 เฉียด 2 หมื่นคันต่อวัน )

ทั้งนี้ ยังได้เข้าติดตามเยี่ยมชมถึงพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนขุขันธ์และให้กำลังใจแก่คณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากร และนักเรียนอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพัฒนาการในทิศทางที่ดี ที่เอื้อต่อการพัฒนาของเมืองขุขันธ์บ้านเรา อันจะนำพาเมืองขุขันธ์ไปสู่สังคมแห่งการพัฒนา และส่งผลโดยตรงกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน สังคม วัฒนธรรม อันจะรวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวขุขันธ์ ในนามของชาวอำเภอขุขันธ์ผู้หนึ่งที่ติดตามข่าวการพัฒนาบ้านเมืองมาสักระยะ ขอขอบคุณท่านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะที่ใส่ใจดูแลการพัฒนาบ้านเมืองในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นโครงการพัฒนาต่าง ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอขุขันธ์อีก

เรียบเรียงเนื้อหาจาก
ภาพ/ข่าว เฟซบุ๊กแฟนเพจข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม https://web.facebook.com/sod.mot/

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 ต.ค. 2560 11:43:00

    อสร้างสะพานลอยหนึ่งแห่ง จะต้องใช้เงินงบประมาณเกือบ10ล้านบาท หากมองเรื่อง"ความคุ้มค่า" ของการใช้เงิน-ใช้งานแล้วมันก็น่าชวนคิดอยู่เหมือนกันนะครับ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะที่ตัวเมืองศรีสะเกษที่มีสะพานลอยอยู่หลายแห่ง นำมาใช้เป็น"กรณีศึกษา" ได้เป็นอย่างดี...
    เครื่องมือที่ใช้สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน มีอยู่หลายอย่างหลายวิธีครับผม ที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ เช่น การใช้ระบบสัญญาณไฟจราจร (แดง-เหลือง-เขียว) ก็สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ครับ แถมยังช่วยประหยัดเงินงบประมาณและมีความคุ้มค่าอีกด้วยครีบ... "ขอบคุณครับ"

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เป็นความคิดที่ดีค่ะ รบกวนแจ้งไปที่กรมทางหลวงด้วยนะคะ อาจจะนำมาซึ่งการพิจารณาและการพัฒนาที่ตรงจุดได้ดีขึ้นค่ะ

      ลบ
    2. ตอนนี้ไม่สร้างแล้วนะคะ เนื่องจากเอกชนไม่อนุญาตให้ก่อสร้างหน้าอาคารห้างร้านของตนเอง...http://khukhannakhorn.blogspot.com/2017/10/Nopass-kkwalkingbridge-flyover.html

      ลบ
    3. ตอนนี้ไม่สร้างแล้วนะคะ เนื่องจากเอกชนไม่อนุญาตให้ก่อสร้างหน้าอาคารห้างร้านของตนเอง...http://khukhannakhorn.blogspot.com/2017/10/Nopass-kkwalkingbridge-flyover.html

      ลบ