วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

134 ปี โขนขุขันธ์ ยอดนาฏยศิลป์ถิ่นศรีสะเกษที่หายไป

134 ปี โขนขุขันธ์ ยอดนาฏยศิลป์ถิ่นศรีสะเกษที่หายไป


โขนขุขันธ์ นาฏยศิลป์ดึกดำบรรพ์ที่หายไป อีกหนึ่งเอกลักษณ์แห่งเมืองขุขันธ์ และจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นนาฏยกรรมที่ทรงคุณค่า แต่ปัจจุบันยังไร้วี่แววการฟื้นฟู




ถ้าพูดถึงนาฏยกรรมหรือนาฏศิลป์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์แห่งเมืองขุขันธ์และบริเวณแถบนี้ ก็คงไม่พ้นที่จะกล่าวถึง โขนขุขันธ์หรือโขนพระยาขุขันธ์ ซึ่งตั้งแต่แรกเริ่มการนำโขนเข้ามายังเมืองขุขันธ์ถึง ณ ปัจจุบัน นับระยะเวลารวมกว่า 134 ปีแล้ว (พ.ศ.2560)

โขนขุขันธ์ เป็นการแสดงนาฏยศิลป์ที่เกิดขึ้นที่เมืองขุขันธ์ หรือจังหวัดขุขันธ์ในขณะนั้น ปัจจุบันคือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2426 ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากการที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ได้นำครูโขนมาจากกรุงเทพฯและครูโขนจากกัมพูชาเข้ามาถ่ายทอดและฝึกหัดการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2426-2447 นักแสดงใช้ผู้ชายล้วน โดยใช้ภาษาเขมรในการแสดง เนื่องจากเมืองขุขันธ์มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อเรื่องมากขึ้น

ต่อมาคณะโขนได้สืบทอดมาถึงพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี กาญจนเสริม) พ.ศ. 2450-2452 รูปแบบการแสดงทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกับคณะของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) แตกต่างกันที่ใช้ภาษาไทยในการแสดง และสืบทอดมาถึงคุณยายบัวแก้ว กาญจนเสริม พ.ศ. 2452-ยุคครูบรรณ มากนวล (ไม่ได้ระบุ พ.ศ.)

ในยุคแรกเริ่มนี้ โขนขุขันธ์ได้รับความนิยมอย่างมาก ว่ากันว่าหากทราบว่ามีการแสดงอยู่จุดใดก็จะพากันไปชมอย่างคึกคัก บ้างก็เดินเท้า บ้างก็นั่งเกวียนเพื่อไปชมโขนก็มี ซึ่งโขนขุขันธ์มักถูกนำมาแสดงตามงานหรือโอกาสสำคัญ หรือการเฉลิมฉลองต่าง ๆ และจัดได้ว่าโขนขุขันธ์ในขณะนั้นยังเป็นสิ่งที่จับต้องยากสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ที่จ้างไปแสดงมักเป็นบุคคลที่มีฐานะดีอีกด้วย


โดยเฟซบุ๊ก Suchart Saman ได้กล่าวถึงโขนขุขันธ์ไว้ว่า โขนขุขันธ์มีอยู่ 2 คณะ
1. คณะโขนของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 มีบ้านพักคณะโขนอยู่ในซรก – กนง – เวียง (บ้านคุ้มในวังหรือคุ้มหลวง) คุ้มเดียวกับบ้านพักเจ้าพระยาฯ มีบทพากย์ร้องเป็นภาษาเขมร
2. คณะโขนของพระยาบำรุงบุรประจันต์ (จันดี กาญจนเสริม) มีบ้านพักคณะโขนอยู่ที่บ้านห้วย ทางใต้วัดไทยเทพนิมิตในปัจจุบัน มีบทพากย์ร้องเป็นภาษาไทย

สูญสิ้นนาฏยศิลป์ถิ่นศรีสะเกษ โขนขุขันธ์
ชลาลัย วงศ์อารีย์ (2549) กล่าวว่า โขนขุขันธ์ เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณปีพุทธศักราช 2511 ภายใต้การนำของในอำเภอสม ทัดศรี เพื่อส่งเข้าร่วมแสดงในงานกาชาดและงานเฉลิมฉลองปีใหม่ประจำจังหวัดศรีสะเกษ โขนขุขันธ์เป็นการผสมผสานละครนอก ลิเกและละครร้องเข้าไว้ด้วยกัน คือ มีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วแบบละครนอก มีการเปลี่ยนฉากชักรอกตามเนื้อเรื่องคล้ายลิเก และมีการแสดงที่เน้นความสมจริงเช่นเดียวกับละครร้อง บทที่ใช้แสดงดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1  ดนตรีใช้วงปี่พาทย์อีสานใต้ การแต่งกายมีทั้งแบบยืนเครื่องและแบบประยุกต์ เวทีมีทั้งแบบยกพื้นและไว้ที่สนาม ซึ่งจะเลือกใช้ในตอนแสดงที่ต่างกัน มีการสร้างฉากตามเนื้อเรื่อง ผู้แสดงมีทั้งชายและหญิงจำนวน 80 ถึง 200 คน บทพากย์และเจรจาจะใช้ฉันทลักษณ์กลอนแปด ไม่ใช้กาพย์อย่างโขน เพลงร้องเป็นสำเนียงเขมร พม่า มอญ ในอัตราจังหวะชั้นเดียวและสองชั้น ขั้นตอนการแสดง เริ่มด้วยปี่พาทย์โหมโรงแปดเพลง จากนั้นดำเนินเรื่องในที่นี้ เป็นตอนหนุมานเผาลงกา จัดตั้งแต่หนุมานทำลายสวน รบสหัสกุมาร รบอินทรชิต และเผาลงกาจึงจบการแสดง

โขนขุขันธ์ ไม่ได้ทำการแสดงอีกเลย หลังจากปีพุทธศักราช 2515  จากปัญหาด้านบุคลากร และด้านงบประมาณ ทำให้ศิลปะการแสดงนี้สูญหายไป แต่ปัจจุบันยังมีผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการแสดงโขนขุขันธ์หลงเหลืออยู่ จึงควรมีการรื้อฟื้นการแสดงโขนขุขันธ์ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอดเป็นมรดกของอำเภอขุขันธ์สืบไป


การแสดงโขนขุขันธ์ สมควรมีการนำมาแสดงในงานสำคัญ ๆ ของจังหวัด เช่น งานเทศกาลดอกลำดวนบาน งานกาชาดดังเดิม หรือแม้แต่งานประเพณีแซนโฎนตาขุขันธ์ ก็สมควรที่จะหยิบยกมานำเสนอร่วมด้วย ทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดอีกด้วย

โขนขุขันธ์ ขณะมาแสดงที่เมืองสุรินทร์


รวบรวมข้อมูลจาก
ชลาลัย วงศ์อารีย์. (2549). โขนขุขันธ์. กรุงเทพฯ :: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,.
สถาบับบัณฑิตพัฒนศิลป์
เฟซบุ๊ก กลางทุ่งมหาวิทยาลัย
เฟซบุ๊ก Suchart Saman

Wikipedia


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น